SQ3R กับการพัฒนากระบวนการคิดด้วยคำถามหมวกความคิด 6 ใบ โดยใช้อัตลักษณ์ของโรงเรียนเป็นฐานในการเรียนรู้
เขียนโดย ireadyweb ireadyweb | 05/06/2556 14:17:38


โครงการเด่นด้านพัฒนาทักษะการคิด
5. SQ3R กับการพัฒนากระบวนการคิดด้วยคำถามหมวกความคิด 6 ใบ โดยใช้อัตลักษณ์ของโรงเรียนเป็นฐานในการเรียนรู้ – โครงการที่นำเทคนิคทางจิตวิทยาทั้งเทคนิคการอ่านหนังสือจับใจความ SQ3R และหมวกความคิด 6 ใบ ซึ่งเป็นการกำหนดรูปแบบของความคิดพิจารณาสิ่งเดียวกันในหลายมุมมอง มาใช้สอนนักเรียนในโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ของโรงเรียนบ้านเตง (เรือนจุลประชาสรรค์) จ.พัทลุง เพื่อให้เกิดการศึกษาเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่อย่างสร้างสรรค์ จากความเข้าใจ ไม่ใช่การท่องจำ
SQ3R เทคนิคการอ่านหนังสือจับใจความ ที่พัฒนาขึ้นโดยศาสตราจารย์ทางจิตวิทยา มีเทคนิค 5 ขั้นตอน คือ S = Survey สำรวจ Q = Question ตั้งคำถาม R = Read อ่าน R = Recite ท่อง R = Review ทบทวน ซึ่งโรงเรียนบ้านเตง (เรือนจุลประชาสรรค์) จ.พัทลุง นำมาใช้ร่วมกับกระบวนการคิดด้วยคำถามหมวกความคิด 6 ใบ โดยใช้อัตลักษณ์ของโรงเรียนคือการเป็นโรงเรียนยุวเกษตร ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รวมถึงการเป็นศูนย์เกษตรชุมชน ซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวางถึง 133 ไร่ เป็นฐานในการเรียนรู้
สำหรับกระบวนการคิดด้วยคำถามหมวกความคิด 6 ใบ นั้นเป็นการกำหนดรูปแบบของความคิดพิจารณาสิ่งๆเดียวกันในหลายมุมมอง คิดค้นโดย ดร.เอ็ดเวิร์ด เดอ โบ โน ปรมาจารย์ด้านการคิด เขาเห็นว่าคนส่วนใหญ่มักจะนำข้อเท็จจริง อารมณ์ และเหตุผลส่วนตัว มาปะปนกันในการถกเถียง ซึ่งผิดและเสียเวลา ดังนั้น เขาจึงเสนอวิธีคิดแบบหมวกความคิด 6 ใบขึ้น โดยแยกกรอบความคิดออกเป็นด้านๆอย่างชัดเจน จากนั้น จึงวิเคราะห์หาเหตุผลภายในกรอบความคิดนั้นๆ ซึ่งจะช่วยพิจารณาสิ่งต่างๆได้ครอบคลุมและมีคุณภาพมากขึ้น หมวก 6 ใบแบ่งเป็น 6 สีแทนความคิดในด้านต่างๆคือ
- หมวกสีขาว หมายถึง ข้อเท็จจริง
- หมวกสีแดง หมายถึง อารมณ์ความรู้สึก
- หมวกสีดำ หมายถึง การตั้งคำถาม หรือตั้งข้อสงสัย
- หมวกสีเหลือง หมายถึง การมองในแง่ดี เต็มไปด้วยความหวัง
- หมวกสีเขียว หมายถึง การคิดอย่างสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหา
- หมวกสีฟ้า หมายถึง การคิดอย่างมีระบบระเบียบ
การนำเทคนิคการอ่านแบบจับใจความมาใช้ร่วมกับกระบวนการคิดด้วยคำถามหมวกความคิด 6 ใบนั้น เริ่มจากครูและนักเรียนร่วมกันสืบเสาะหาข้อมูลเพื่อนำมาจัดทำเป็นเอกสารประกอบการเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยใช้วิธีการ SQ3R มาใช้ คือเริ่มจากสำรวจข้อมูลต่างๆที่ได้มาจากหนังสือ อินเตอร์เน็ต ผู้รู้ในชุมชน จากนั้น จึงตั้งคำถามในประเด็นประเด็นที่สนใจ แล้วจึงอ่านอย่างละเอียดเพื่อเลือกนำข้อมูลที่ได้มาใช้ ส่วนการท่องจำและทบทวนนั้นจะนำไปใช้ในช่วงลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นการทบทวนความรู้ในขณะลงมือทำ
เมื่อจัดทำเอกสารประกอบการเรียนเสร็จแล้ว ก็นำมาใช้ในฐานเกษตรทฤษฎีใหม่ทั้งหมด 11 ฐาน คือ ฐานการปลูกยางพารา ฐานการปลูกหญ้าแฝก ฐานการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ฐานการปลูกหญ้าเลี้ยงวัว ฐานการปลูกข้าว ฐานการปลูกกระท้อน ฐานการปลูกผักสวนครัว ฐานการเพาะเห็ด ฐานการทำปุ๋ยหมัก ฐานการทำน้ำส้มควันไม้ และฐานการทำน้ำยาล้างจาน
หลังการทำโครงการ โรงเรียนบ้านเตง (เรือนจุลประชาสรรค์) กลายเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างแท้จริง มีการอบรมใหญ่ให้แก่นักเรียน ผู้ปกครอง และคนในชุมชนที่มีความรู้เกี่ยวกับการเกษตรในแต่ละด้าน ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ โดยการเรียนรู้ไปตามฐานต่างๆจนครบทั้ง 11 ฐาน
ส่วนคำถามหมวกความคิด 6 ใบ มีการนำมาใช้ในช่วงเข้าแถวเคารพธงชาติ โดยครูจะเป็นคนกำหนดว่า วันนี้จะเลือกหมวกสีอะไรมาใช้เป็นคำถาม เช่น หากวันนี้จะเรียนรู้เรื่องหญ้าแฝก ประธานนักเรียนจะหยิบสลาก ใครถูกเลือกจะมาตั้งคำถามที่เป็นหมวกสีต่างๆตามที่ครูกำหนด เช่น หากเป็นหมวกสีขาว คำถามต้องเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง นักเรียนอาจตั้งคำถามว่า “ใบของหญ้าแฝกมีลักษณะอย่างไร” หรือถ้าเป็นสีดำ คำถามต้องเกี่ยวข้องกับการตั้งข้อสงสัยหรือคำถาม เช่น “ทำไมต้นหญ้าแฝกที่ปลูกไว้จึงเหี่ยว” ใครที่ถามคำถามตรงกับหมวกที่ครูยกมาก็จะได้รับคะแนนสะสม และจะมอบประกาศนียบัตรและรางวัลให้ในช่วงวันเด็ก
กิจกรรมต่างๆเหล่านี้ ทำให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น จากเมื่อก่อนไม่ผ่านการประเมินด้านอัตลักษณ์และความคิดสร้างสรรค์ ทุกวันนี้ได้รับการประเมินในเกณฑ์ดีมาก โดยเฉพาะในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เด็กๆกล้าคิด กล้าแสดงออกมากขึ้น รู้จักวิธีแก้ไขปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์
จำนวนผู้เข้าชม 11722 คน | จำนวนโหวต 5 ครั้ง
Creative Common License Version 3.0
ผลงานนี้ อยู่ภายใต้ สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ต้นฉบับ.ข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์สสค. อนุญาตให้เผยแพร่และแจกจ่ายโดยเสรี ซึ่งผู้นำไปใช้ไม่จำเป็นต้องติดต่อจากทางสสค. แต่อย่างใด แต่จำเป็นจะต้องอ้างอิงแหล่งที่มาว่ามาจากสสค.
ความคิดเห็น
กรุณาเข้าสู่ระบบก่อนแสดงความคิดเห็น
ท่านที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สสค. โลกแห่งการเรียนรู้ออนไลน์รอคุณอยู่ คลิกที่นี่ เพื่อสมัครสมาชิก สสค.