การพัฒนาอัจฉริยภาพทางด้านคณิตศาสตร์ของนักเรียน โดยใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad เป็นเครื่องช่วยในการเรียนรู้
เขียนโดย ireadyweb ireadyweb | 12/06/2556 15:37:08


โครงการเด่นด้านพัฒนาทักษะการคิด
13. การพัฒนาอัจฉริยภาพทางด้านคณิตศาสตร์ของนักเรียน โดยใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad เป็นเครื่องช่วยในการเรียนรู้ – เปรมปรีด์ ธรรมปรีชา ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนศรีสำโรงชนูปถัมภ์ จ.สุโขทัย นำ The Geometer’s Sketchpad หนึ่งในโปรแกรมจากโครงการพัฒนาเรขาคณิตที่มองเห็นได้ของมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ สหรัฐอมริกา เข้ามาสอนวิชาคณิตศาสตร์ เพื่อเปลี่ยนวิชานี้จากนามธรรมให้เป็นรูปธรรม ทำให้นักเรียนเข้าใจได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีโอกาสพัฒนาพหุปัญญาอีกด้วย
โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad หรือ GSP เป็นโปรแกรมที่พัฒนามาจากส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเรขาคณิตที่มองได้ (Visual Geometry Project) ของมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ในปี 2530 โดยนิโคลัส แจคคิว จุดเด่นของโปรแกรมนี้จึงเป็นสื่อที่ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะของการนึกภาพ (Visualization) ซึ่งจะเปลี่ยนวิชาคณิตศาสตร์จากนามธรรมให้กลายเป็นรูปธรรม ทำให้นักเรียนเข้าใจวิชาคณิตศาสตร์ได้มากขึ้น ในหลายสาขา เช่น วิชาเรขาคณิต พีชคณิต ตรีโกณมิติ และแคลคูลัส ซึ่งวิชาเหล่านี้ต้องอาศัยการนึกภาพเข้ามาช่วย
ที่สำคัญ GSP เป็นสื่อเทคโนโลยีที่ช่วยให้นักเรียนมีโอกาสเรียนคณิตศาสตร์โดยการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Constructivist Approach) และเป็นการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Learner-Centered Learning) โดยบูรณาการสาระที่เกี่ยวข้องกับความรู้คณิตศาสตร์และทักษะด้านเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน และยังทำให้ผู้เรียนมีโอกาสพัฒนาพหุปัญญา อันได้แก่ ปัญญาทางภาษา ด้านตรรกศาสตร์ ด้านมิติสัมพันธ์ และด้านศิลปะ อีกด้วย
เปรมปรีด์ ธรรมปรีชา ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนศรีสำโรงชนูปถัมภ์ จ.สุโขทัย ได้นำโปรแกรมนี้มาเป็นตัวช่วยในโครงการที่จะทำให้นักเรียนสนุกกับการเรียนคณิตศาสตร์ โดยให้ครูคณิตศาสตร์ทั้ง 12 คนสร้างสื่อการสอนคนละ 1 ชิ้น และให้นักเรียนทั้ง 180 คนที่สนใจมาเรียนรู้โปรแกรม โดยแบ่งเป็น 3 กิจกรรม คือ
1. สนุกคิดกับคณิตด้วย GSP ครูจะสอนการสร้างรูปเรขาคณิตพื้นฐาน การสร้างภาพเคลื่อนไหว ซึ่งโปรแกรมนี้จะทำให้นักเรียนเห็นว่าหากวาดภาพวงกลม วงกลมนี้จะมีเส้นรอบวง เส้นผ่าศูนย์กลางเท่าไหร่ โดยไม่ต้องแก้โจทย์ แต่ในขั้นสุดท้าย ครูจะให้นักเรียนแก้โจทย์ กิจกรรมนี้จะทำให้นักเรียนเห็นภาพ
2. ปัญหาชวนคิดด้วย GSP กิจกรรมนี้จะยากขึ้น โดยครูจะให้นักเรียนคิดสถานการณ์ปัญหาขึ้นมา แล้วแก้โจทย์โดยใช้โปรแกรม GSP
3. คณิตศาสตร์สร้างสรรค์ด้วย GSP กิจกรรมสร้างภาพที่มีพลวัตหรือมีการเคลื่อนไหวแบบแอมิเนชัน (Animation) เช่น โครงงานสร้างสรรค์ผลงานวันลอยกระทง จะมีภาพกระทงลอยไปในน้ำ พระอาทิตย์ค่อยๆลับขอบฟ้า พลุที่จุดสว่าง โดยใช้หลักการเคลื่อนที่ของจุด และการย่อขยายทางคณิตศาสตร์เข้ามาช่วยคิดคำนวณ
จำนวนผู้เข้าชม 13140 คน | จำนวนโหวต 11 ครั้ง
Creative Common License Version 3.0
ผลงานนี้ อยู่ภายใต้ สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ต้นฉบับ.ข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์สสค. อนุญาตให้เผยแพร่และแจกจ่ายโดยเสรี ซึ่งผู้นำไปใช้ไม่จำเป็นต้องติดต่อจากทางสสค. แต่อย่างใด แต่จำเป็นจะต้องอ้างอิงแหล่งที่มาว่ามาจากสสค.
ความคิดเห็น
กรุณาเข้าสู่ระบบก่อนแสดงความคิดเห็น
ท่านที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สสค. โลกแห่งการเรียนรู้ออนไลน์รอคุณอยู่ คลิกที่นี่ เพื่อสมัครสมาชิก สสค.